นาตาชา ไค สาวลายสักหัวใจนักสู้แห่งท้องทะเล

บรรดาเซเลบสาววงการกีฬาไม่น่าจะมีใครที่สะสมรอยสักมากเท่านาตาชา ไคอีกแล้ว เพราะในขณะที่สาวนักกีฬาคนอื่น ๆ (เว้นบรรดานักสู้ UFC และ MMA) มีรอยสักเสมือนเป็นเครื่องประดับ แต่นาตาชาสักรอยบนร่างกายของเธอด้วยความศรัทธา

นาตาชา ไค เกิดในปี 1983 ที่ฮาวาย รัฐกลางมหาสมุทรแปซิฟิคของสหรัฐอเมริกา ว่ากันว่าชาวฮาวายสืบเชื้อสายมาจากชนชาวโพลีนิเชี่ยน นักเดินทะเลที่ยิ่งใหญ่จากหมู่เกาะทะเลใต้ ดังนั้นศิลปะและวัฒนธรรมเกี่ยวกับชาวโพลีนิเชี่ยนและชาวฮาวายจึงคล้ายคลึงกันมาก ลวดลายรูปคลื่นและเรื่องราวเกี่ยวกับทะเลถูกวาดลงบนแขนขวาของนาตาตั้งแต่ข้อมือขึ้นไปถึงหัวไหล่ และตั้งแต่สะโพกลงไปจนตลอดขาขวาด้วย มันมีความเป็นสัญลักษณ์แบบชาวเกาะฮาวาย ริ้วคลื่น ใบไม้ ทางมะพร้าว รวมไปถึงดอกชบา ดอกไม้สัญลักษณ์ของชาวฮาวายถูกบรรจงรังสรรค์ไว้อย่างสวยงาม

ตอนอายุ 5 ขวบ นาตาชาเจออุบัติเหตุใหญ่ ชิ้นแก้วที่แตกเสียบที่เท้า มันร้ายแรงขนาดที่หมอวินิจฉัยว่าเธออาจจะวิ่งไม่ได้ แต่ที่สุดเธอก็ฟื้นตัวกลับมาอย่างแข็งแกร่ง การเติบโตในฐานะนักกีฬาฟุตบอลอาชีพและติดทีมชาติเป็นไปไม่ได้เลยหากอยู่ที่ฮาวาย นั่นคือสิ่งที่นาตาชาคิด เมื่อจำเป็นต้องเลือกนาตาชาจึงออกเดินทางมาสู่แผ่นดินใหญ่ โดยมีโปรไฟล์ผลงานที่ดีระหว่างเล่นทีมมหาวิทยาลัยแห่งรัฐฮาวาย

การอยู่ห่างไกลบ้านเกิดทำให้เธอต้องหาสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ แผ่นหลังของนาตาชามีเต่าทะเลในรูปแบบศิลปะฮาวาย และบนหลังเท้าขวาก็มีแผนที่รัฐฮาวายบ้านเกิด ในไม่ช้านาตาชาก็เพิ่มรอยสักลงไปอีก เธอสักชื่อไคไว้ที่ด้านหลัง สัญลักษณ์ราศีเมถุนที่เป็นราศีเกิดบนหัวไหล่ซ้าย ที่สีข้างด้านขวานาตาชาสักเนื้อเพลงที่เธอแต่งด้วยตัวเอง มันบรรยายว่า “ในช่วงเวลาอันน่าชื่นชม สมบัติลล้ำค้าที่สุดในโลกคือหัวใจของฉัน และฉันแบ่งปันมันให้กับคุณ จงปกป้องมันราวกับเป็นหัวใจคุณเอง” ซึ่งไคอธิบายว่ามันช่วยให้เธอจดจำว่าตัวเองเป็นคนที่แข็งแกร่ง เธอต้องทำให้ตัวเองแข็งแกร่ง แล้วคนรอบข้างก็จะรู้เองว่าเธอแข็งแกร่งและเป็นคนดี บนตัวของนาตาชามีรอยสักรวมแล้วมากกว่า 60 ชิ้นซึ่งมันทำให้เธอดูโดดเด่นและแตกต่างท่ามกลางนักกีฬารายอื่นโดยตลอดเวลาที่ลงแข่งขัน

การต้องต่อสู้ไกลบ้านต้องใช้หัวจิตหัวใจที่แข็งแกร่ง นาตาชาสู้กับคำดูถูกเรื่องการเป็นสาวบ้านนอก แต่เธอก็ค่อย ๆ สร้างผลงานและติดทีมชาติสหรัฐ กลายเป็นนักกีฬาฟุตบอลหญิงคนแรกจากรัฐห่างไกลอย่างฮาวาย ที่ได้รับเลือกเข้าทีมฟุตบอลหญิงชุดใหญ่ของประเทศ

เรื่องสำคัญหนึ่งอย่างเกี่ยวกับการเป็นนักเตะทีมชาติ คือการที่เธอไม่เคยเกี่ยวข้องใด ๆ กับสารบบทีมชาติมาก่อน โอกาสเดียวที่เธอได้สัมผัสคือการเข้าแคมป์เก็บตัวนักกีฬาชุดอายุไม่เกิน 21 ปี ในปี 2004 แตกต่างจากเพื่อนร่วมทีมรายอื่น ๆ ที่โตมาในระบบที่คุ้นเคยตั้งแต่ยังเป็นเยาวชนทั้งนั้น นาตาชา ไคผลักดันตัวเองจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในทีมชาติชุดนั้น ก่อนที่จะตามมาด้วยการสร้างผลงานยิง 12 ลูกจาก 6 เกม แต่มันก็ไม่ง่ายสำหรับการไต่สูงขึ้นไป เมื่อนาตาชาต้องใช้เวลาอีกถึง 2 ปีบนเวทีลูกหนังก่อนถูกเรียกขึ้นทีมชาติชุดใหญ่ รวมไปถึงการคว้าเหรียญทองโอลิปิกเกมส์ที่ปักกิ่งในปี 2008 ได้

แต่การต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของนาตาชา ไค ไม่ใช่เกมลูกหนัง หากแต่มันคือการลุกขึ้นมายอมรับว่าตัวเธอเป็นกลุ่มหญิงรักหญิง แม้ทั้งหมดจะมีจุดเริ่มต้นจากการหลุดคำสัมภาษณ์ให้กับเว็บไซต์ข่าวช่องหนึ่งก็ตามว่าเธอต้องเลิกกับแฟนสาวเพื่อเดินทางต่อไปบนถนนลูกหนังสายอาชีพ ยังโชคดีที่นาตาชาไม่ใช่เพียงผู้เล่นรายเดียวที่ประกาศตัวเป็นเลสเบี้ยนในปีนั้น เมื่อมีผู้เล่นทีมชาติสหรัฐอีกสองรายที่เผยว่าเป็นกลุ่มรักร่วมเพศเช่นกัน ทำให้เธอก้าวผ่านช่วงเวลานั้นได้

หลังปี 2009 การคว้าเหรียญทองโอลิมปิกและได้แชมป์ลีกฟุตบอลหญิงของประเทศ ประกอบกับอาการบาดเจ็บแล้วบาดเจ็บอีก นาตาชาในวัย 27 ปีเลือกกลับมาใช้ชีวิตที่ฮาวาย หลังจากที่รู้สึกถึงจุดอิ่มตัวแล้วในการเล่นฟุตบอล ที่เกาะฮาวายบ้านเกิด นาตาชามีเวลาพักผ่อน ใช้ชีวิตแบบห่างไกลจากกลิ่นลูกหนัง และได้เฝ้าดูแลคุณพ่อที่เป็นมะเร็งระยะสุดท้าย หากแต่คำขอร้องที่อยากเห็นลูกสาวกลับมาเล่นฟุตบอลอีกครั้งทำให้นาตาชารู้สึกสับสน ก่อนที่จะตัดสินใจเริ่มต้นเข้าฟิตเนสหลังการจากไปของพ่อในปี 2014 เธอทุ่มเทอย่างบ้าคลั่งในการฟิตซ้อมตัวเองสลับกับการจมอยู่ในความเศร้าจากการสูญเสีย จนที่สุดก็พร้อมจะลงเล่นให้บลู สกาย สโมสรแรกที่เธอเริ่มต้นเล่นฟุตบอล

มีนาคม 2016 นาตาชา ไตลงเล่นฟุตบอลอาชีพอีกครั้งในฐานะนักกีฬาของสโมสรบลู สกายท่ามกลางคนดูแค่ราว 500 คน นาตาชายิงประตูได้ติดต่อกันหลายเกม สัญชาตญาณนักล่ากลับมาสู้ตัวเธอ แต่เหนืออื่นใดเธอหัวเราะกับมันหลังจากใช้ชีวิตอย่างหม่นหมองมานาน ในวันที่เธอกลับมาลงเล่นอีกครั้ง บรรดาเพื่อนเก่าแก่ในวงการฟุตบอลต่างรีบทวีตส่งต่อข่าวนี้อย่างตื่นเต้น