รอยสักของเหล่านักรักบี้กับเกมชิงแชมป์โลกที่ญี่ปุ่น

บนโลกใบนี้ วัฒนธรรมการสักบนร่างกายไม่มีภูมิภาคไหนโดดเด่นเท่ากับชาวเกาะทะเลใต้ ลูกหลานของชาวโพลีนีเซียนอีกแล้ว เพราะแทบทุกเผ่าที่สืบทอดเชื้อสายนักเดินทะเลต่างได้รับเอาวัฒนธรรมและประเพณีการสักมาเป็นของตัวเอง และกลายเป็นเอกลักษณ์ที่สะดุดตาผู้คนอย่างยิ่ง ดังนั้นมันถึงตกทอดมาถึงบันดาลูกหลานของพวกเขา

ในโลกของกีฬานั้น ชาวเกาะทะเลใต้ทั้งหลายดูจะเก่งกาจในเชิงกีฬารักบี้มากในระดับต้นของโลก ทีมอย่างออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ตองกา ฟิจิ โซโลมอน รวมถึงเกาะเล็กเกาะน้อยทั้งอาณาบริเวณเขตนั้นต่างมีชื่อเสียงในกีฬาชนิดนี้ และมันก็ไม่แปลกที่นักกีฬาของพวกเขาจะมีรอยสักอันเป็นเครื่องแสดงออกถึงความแข็งแกร่ง ความกล้าหาญ ซึ่งเหมาะสมกับการเล่นกีฬาที่ต้องปะทะกันอย่างรุนแรงนี้ด้วย

ด้วยรูปร่างแบบนักรักบี้ที่ตัวใหญ่ ทำให้การสักลวดลายบนร่างกายของพวกเขาสามารถสร้างภาพที่โดดเด่นได้สบาย ๆ ในส่วนของนักกีฬาที่สืบเชื้อสายชนเผ่าพวกเขาไม่ลืมที่จะสร้างลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์บ่งบอกที่มาของตนเองทั้งสไตล์เมารี, อะบอริจิน, ตองกา, ซามัว หรือ มาร์กี้ซัน ร่วมด้วยรูปภาพอันเป็นเอกลักษณ์แบบสากลต่าง ๆ ตลอดจนข้อความที่แฝงความหมาย

ความนิยมในการสักบนร่างกายของนักรักบี้ในฝั่งทวีปออสเตรเลียและหมู่เกาะโพลีนีเซียนต่างไปจากเหล่านักรักบี้ในยุโรปโดยเฉพาะกับนักรักบี้ของอังกฤษ ซึ่งผู้เล่นส่วนใหญ่ของทีมชาติอังกฤษมีรอยสักที่เป็นรูปและสีสันสวยงาม โดยเฉพาะการสักรูปดอกกุหลายซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ประจำทีมของพวกเขาไว้บนส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย พร้อมด้วยสีสันจากภาพที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาและความเชื่อด้วย

ในบรรดานักกีฬาจากชนิดกีฬาต่าง ๆ รักบี้ดูจะเป็นชนิดกีฬาที่ผู้เล่นมีรอยสักแทบจะทุกคน บางทีมอย่างเช่นนิวซีแลนด์นั้น ผู้เล่นทุกรายต่างมีรอยสักเป็นของตัวเอง ทำให้เกิดข้อกังวลเกี่ยวกับการแข่งขันรักบี้ เวิร์ลด์ คัพที่ญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพในปี 2019 นี้อย่างมาก เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าวัฒนธรรมและมุมมองของชาวญี่ปุ่นที่มีต่อการสักนั้นเป็นในแง่ลบที่สุด หลายสถานที่สาธารณะไม่ยินดีต้องรับคนที่มีรอยสักจนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ซึ่งไม่อนุโลมให้แม้จะเป็นชาวต่างชาติก็ตาม สิ่งนี้เองที่ทำให้เกิดกระแสความคิดเห็นเห็นสองฝั่งว่ารักบี้ เวิร์ลด์ คัพจะมีการขอร้องให้ทุกคนปกปิดรอยสักดีหรือไม่?

ในขณะที่นักกีฬาจากประเทศต่าง ๆ ก็เหมือนยินดีที่จะให้ความร่วมมือเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่จากการที่วัฒนธรรมของญี่ปุ่นเองก็เปิดกว้างขึ้น รวมไปถึงการได้ย้อนกลับมาเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกในปี 2020 อีกครั้งของญี่ปุ่น ทำให้มีการเผยแพร่ความเข้าใจเกี่ยวกับรอยสักซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมโลกอย่างหนึ่งอย่างต่อเนื่อง การแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลกจึงอาจจะได้เป็นตัวแทนในการเปิดมุมมองใหม่ของชาวญี่ปุ่นก่อนหน้าการแข่งขันของมวลมนุษยชาติก็เป็นได้

รอยสักกับนักกีฬากลายเป็นของคู่กันจนเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ในขณะที่โลกก็แคบลงเนื่องจากการเชื่อมโยงถึงกันได้ทั่วถึงของเครือข่ายอินเตอร์เน็ต วัฒนธรรมและความเชื่อถูกนำมาบอกเล่าต่อกันเพื่อให้ต่างฝ่ายต่างเข้าใจกันมากขึ้น และวันหนึ่งรอยสักอาจจะมีภาพลักษ์ที่สวยงามในสายตาของทุกคนก็ได้ สำหรับชาวญี่ปุ่นมันอาจจะเพิ่มขึ้นจากการแข่งขันรักบี้รายการใหญ่ที่พวกเขาเป็นเจ้าภาพนี้