รอยสักชาวเผ่าโอลิมปิก สิ่งที่จะเปลี่ยนมุมมองสังคมญี่ปุ่นไปตลอดกาล

โอลิมปิก กีฬาแห่งมวลมนุษยชาติจะวนลูปกลับมาอีกครั้งในปี 2020 โดยมีญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ สองครั้งล่าสุดมันเกิดปรากฏการณ์ความสนใจที่มีต่อรอยสักเพิ่มสูงขึ้นมากทั้งในริโอ 2016 และลอนดอน 2012 เมื่อบรรดานักกีฬาต่างพร้อมใจกันนำเสนอรอยสักทั้งเล็กและใหญ่ ไม่ใช่แค่เฉพาะลวดลายรูปวงแหวนโอลิมปิกห้าห่วงเท่านั้น แต่มันครอบคลุมไปถึงรอยสักขนาดใหญ่ที่เป็นจุดสนใจของผู้คนราวกับเป็นแฟชั่นอีกอย่างหนึ่งขอโอลิมปิกไปเลย

นักกีฬาจำนวนมากที่ปฏิเสธการมีรอยสัก แต่หากจะเลือกสักรอยเพื่อใช้เป็นที่ระลึกแล้ว ไม่มีสัญลักษณ์ใดน่าภูมิใจเท่าการจารึกว่าครั้งหนึ่งพวกเขาเคยเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกมาแล้ว

แต่ที่ประเทศญี่ปุ่น เจ้าภาพของโอลิมปิกครั้งต่อไป วัฒนธรรม ความเชื่อ และค่านิยมของพวกเขาที่มีต่อรอยสักถูกส่งต่อภาพลักษณ์ด้านลบมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะการที่ถูกสังคมมองว่ารอยสักเป็นเรื่องราวของกลุ่มคนไม่ดีอย่างยากูซ่า หรือไม่ก็นักเลงอย่างพวกชาวแก๊งค์ต่าง ๆ มุมมองเชิงลบที่มีต่อคนที่มีรอยสักทำให้เกิดจารีตต้องห้าม เช่น การห้ามคนมีรอยสักใช้สระว่ายน้ำสาธารณะ การห้ามใช้ห้องแช่บ่อน้ำร้อนร่วมกับคนทั่วไป ซึ่งกรณีนี้มันเลยเถิดไปถึงชาวต่างชาติอย่าง อีเรน่า เท บรีเวอตัน นักเรียนทุนจากนิวซีแลนด์ที่ถูกห้ามลงบ่อน้ำร้อนในฮอกไกโด เนื่องจากรอยสักแบบเมารีบนใบหน้าของเธอ

โยชิฮิโตะ นากาโน่ หรือที่รู้จักกันในฉายา “โฮริโยชิ ที่ 3” ยอดนักสักคนดังชาวญี่ปุ่นวัย 72 ปี เขาคือนักสักเต็มตัวตามวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่เรียกว่า Irezumi หรือ Horimomo มาอย่างยาวนาน เขาไม่ได้เกี่ยวพันกับยากูซ่า แต่หลงใหลในสีสันและลวดลายที่ได้เห็นจากรอยสักของคนเหล่านั้นตั้งแต่อายุแค่สิบกว่าขวบ ถึงขนาดว่าต้องดั้นด้นไปขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของช่างสักระดับตำนานที่ชื่อ โยชิซึกุ มูรามัตซึ ชายที่ถูกเรียกว่าเป็น Shodai Horiyoshi of Yokohama หรือผู้ก่อตั้งสมาคมสักแห่งโยโกฮาม่า ที่นั้นนากาโน่ได้เรียนจากชายผู้เป็นโฮริโยชิ รุ่นที่ 2 ทำให้เขาได้สืบทอดตำแหน่งรุ่นที่ 3 ในเวลาต่อมา เมื่อฝีมือเป็นที่ประจักษ์ นากาโน่ หรือโฮชิโยริ รุ่น 3 ก็ได้ทำงานสายนี้ เขาสร้างรอยสักทั้งคนในโลกด้านมืดและคนในโลกปกติ

นากาโน่มองเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวงที่จะเกิดขึ้นเมื่อโอลิมปิกที่โตเกียวเริ่มต้นขึ้น โดยเฉพาะในวันที่ความพยายามเรียกร้องให้การสักรอยเป็นสิ่งผิดกฎหมายในญี่ปุ่น หากไม่สามารถแสดงใบอนุญาตทางการแพทย์เพื่อสร้างผลงานเหล่านั้น ในขณะที่นักสักต่างมองว่ามันเป็นวัฒนธรรมที่แตกต่างไป มันไม่ได้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวงการแพทย์เสียหน่อย

“จะมีนักกีฬาและนักท่องเที่ยวมากมายมาที่ญี่ปุ่นในช่วงเวลาดังกล่าว พวกเขามีรอยสักที่มันมาจากต่างวัฒนธรรม มันจะเป็นอย่างไรถ้าคนเหล่านั้นไม่ได้นับอนุญาตลงฝึกซ้อมหรือทำกิจกรรมเพราะติดข้อห้ามเรื่องรอยสัก? สังคมจะมองเรื่องนี้แบบไหน?” เป็นคำถามที่นากาโน่ถามเผื่อไปถึงทัศนคติเรื่องการสักของสังคมชาวญี่ปุ่น

บรรดานักกีฬาและนักชมกีฬาที่จะเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกในปี 2020 บางคนจะไปเปิดเผยรอยสักในฐานะสมาชิกผู้มีส่วนร่วมในการแข่งขันครั้งแรก บางคนเป็นครั้งที่สอง และบางคนมากครั้งกว่านั้น พวกเขามาด้วยความภาคภูมิใจที่จะมีสัญลักษณ์ห่วงทั้งห้าบนส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ในวันที่การสักเป็นแฟชั่นอย่างหนึ่ง บางคนจะได้นำเสนอรอยสักที่เป็นทั้งความทรงจำ ความศรัทธาและความเชื่ออันงดงามของพวกเขา

โอลิมปิก 2020 บนแผ่นดินญี่ปุ่นที่มีจารีตและความเชื่อด้านลบเกี่ยวกับคนที่มีรอยสักจะได้เผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนไปตลอดกาล