ชาริล ชัปปุยส์ สตาร์ลูกครึ่งที่พาแฟชั่นรอยสักบูมในวงการฟุตบอลไทย

ในฐานะนักฟุตบอลที่มีหน้าตาหล่อเหลาเป็นทรัพย์ติดตัวมาตั้งแต่เด็ก ชาริล ชัปปุยส์ ลูกครึ่งไทยสวิต-เซอร์แลนด์ กลายมาเป็นดาวเด่นในสายตาคนไทยทันที เมื่อเขาตกลงใจย้ายจากยุโรปมาเล่นให้บุรีรัมย์ ยูไนเต็ดในปี 2556 และต่อมาก็ก้าวขึ้นมาติดทีมชาติชุดได้แชมป์ซีเกมส์ที่เมียนมา ต่อด้วยอันดับสี่ เอเชียนเกมส์ที่เกาหลีใต้ และแชมป์อาเซียนคัพในปี 2557 ชัปปุยส์คือสตาร์ดาวรุ่งที่พุ่งแรงที่สุดคนหนึ่งของช่วงเวลาดังกล่าว

นอกจากรูปร่างหน้าตาแบบเด็กหนุ่มลูกครึ่งที่โดนใจสาว ๆ จนได้ก้าวมาสู่การเป็นนายแบบโฆษณาสินค้าหลายชิ้น หนึ่งในความโดดเด่นของชาริล ชัปปุยส์คือการที่เขามีรอยสักบนท่อนแขนขวาอย่างโดดเด่นหลังความแชมป์ในปี 2557 ผิดกันกับนักเตะไทยรายอื่น ๆ ที่มักสักไว้ในส่วนที่ปิดไว้มิดด้วยเสื้อฟุตบอลหรือถุงเท้า

แขนขวาของชัปปุยส์มีรอยสักแบบชาวโพลีนีเซียนที่เป็นที่นิยมอย่างมาก ซึ่งเมื่อมันปรากฎภาพในโฆษณาผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายที่เขาถูกว่าจ้างเป็นพรีเซ็นเตอร์ มันก็กลายเป็นที่ฮือฮา หลังจากนั้นสื่อต่าง ๆ ก็ให้ความสนใจนำเสนอเรื่องราวของรอยสักบนร่างกายของชัปปุยส์และนักกีฬาฟุตบอลรายอื่น ๆ ทั้งลีซอ ธีรเทพ วิโนทัย, ชาคริต บัวทอง หรือประหยัด บุญญา ซึ่งที่จริงแล้วนักเตะไทยหลายรายก็มีความชอบในการสักแต่มันไม่เป็นที่สนใจเท่านั้นเอง

หนึ่งรอยสักที่โดดเด่นของยอดนักเตะลูกครึ่งสวิตฯ ที่เป็นที่สนใจคือรอยสักบนน่องซ้ายซึ่งเป็นรูปรวมตัวการ์ตูนที่มีทั้งมาริโอ บรอส์, ปิกาจู, ซง โกคูจากดราก้อนบอล, โดนัลด์ ดั๊ก, ซิมป์สันและเรื่องราวจากกัปตันซึบาสะ โดยมีการดีไซน์แบบผสมตัวละครกับช่องเฟรมเหมือนคอมิกส์ แน่นอนว่ารอยสักดังกล่าวได้รับการคุ้มครองในรูปแบบลิขสิทธิ์เสียด้วย

ชัปปุยส์ประสบความสำเร็จมากมายในระหว่าง 2 ปีแรกที่มาเริ่มต้นเล่นฟุตบอลในเมืองไทย จนกระทั่งเขาเกิดอาการบาดเจ็บจากการกระโดดดีใจแล้วลงผิดจังหวะ หลังจากนั้นเขาต้องพักยาวเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บที่เริ่มต้นจาก 1-2 เดือนกลายเป็นเกือบปี เมื่อกลับมาลงสนามอีกครั้ง ผลงานของชัปปุยส์ก็ไม่กลับมาเข้าฟอร์มเดิม นอกจากจะหลุดจากทีมชาติแล้วเจ้าตัวยังต้องโยกย้ายออกจากสโมสรบุรีรัมย์ไปอยู่ที่สุพรรณบุรีหลังโดนผู้เล่นรายอื่นทำผลงานแซงหน้า

ที่สุพรรณบุรีนี่เองที่ชัปปุยส์มีรอยสักใหม่เป็นรูปช้างบนแผนที่ประเทศไทย เขาเล่าถึงรอยสักรูปช้างว่ามีความชื่นชอบในความยิ่งใหญ่และแข็งแกร่งของมัน ช้างเป็นสัตว์ตัวโปรดของเขามาตั้งแต่เด็ก ๆ ทุกครั้งที่กลับมาเมืองไทยเขาก็จะไปเยี่ยมชมหมู่บ้านช้างกับครอบครัวอยู่เสมอ เมื่อถึงวันที่เขาบาดเจ็บหนัก รอยสักที่เขาเลือกจึงเป็นรูปช้างและประเทศไทยที่เขารัก พร้อมทั้งหวังว่ามันจะช่วยปกปักรักษาไม่ให้เขาได้รับบาดเจ็บอีก

ความโด่งดังของชัปปุยส์นั้นไม่มีอะไรนิยามได้ดีเท่ากับฐานะสามีแห่งชาติ เพราะเขาเป็นขวัญใจของสาวน้อยสาวใหญ่สาวแท้สาวเทียมทั้งประเทศ รอยสักของชาริลเองก็ได้รับความสนใจ และมันได้เปลี่ยนมุมมองของสาว ๆ ที่มีต่อรอยสักจากที่เคยรู้สึกไม่ชอบ รู้สึกว่ารอยสักมีแต่คนไม่ดีเท่านั้นที่สัก มันกลายเป็นว่าทุกอย่างบนร่างกายของชัปปุยส์ดูเท่ห์ ดูแล้วสวยงามไม่น่าเกลียดเลย แถมยังทำให้เกิดการแห่ตามไปสักรอยบนร่างกายด้วย

ต้องยอมรับว่าชาริล ชัปปุยส์คือนักฟุตบอลพรสวรรค์ที่มาพร้อมมุมมองเรื่องรอยสักใหม่ของแฟนบอลไทย การที่เขาเป็นนักเตะที่แฟนบอลไทยเข้าถึงได้ และเป็นขวัญใจของผู้คน รอยสักจากที่เคยถูกมองไม่ดีก็เปลี่ยนเป็นรสนิยมใหม่ที่ถูกยอมรับว่าสวยงามแทน

รอยสักชาวเผ่าโอลิมปิก สิ่งที่จะเปลี่ยนมุมมองสังคมญี่ปุ่นไปตลอดกาล

โอลิมปิก กีฬาแห่งมวลมนุษยชาติจะวนลูปกลับมาอีกครั้งในปี 2020 โดยมีญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ สองครั้งล่าสุดมันเกิดปรากฏการณ์ความสนใจที่มีต่อรอยสักเพิ่มสูงขึ้นมากทั้งในริโอ 2016 และลอนดอน 2012 เมื่อบรรดานักกีฬาต่างพร้อมใจกันนำเสนอรอยสักทั้งเล็กและใหญ่ ไม่ใช่แค่เฉพาะลวดลายรูปวงแหวนโอลิมปิกห้าห่วงเท่านั้น แต่มันครอบคลุมไปถึงรอยสักขนาดใหญ่ที่เป็นจุดสนใจของผู้คนราวกับเป็นแฟชั่นอีกอย่างหนึ่งขอโอลิมปิกไปเลย

นักกีฬาจำนวนมากที่ปฏิเสธการมีรอยสัก แต่หากจะเลือกสักรอยเพื่อใช้เป็นที่ระลึกแล้ว ไม่มีสัญลักษณ์ใดน่าภูมิใจเท่าการจารึกว่าครั้งหนึ่งพวกเขาเคยเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกมาแล้ว

แต่ที่ประเทศญี่ปุ่น เจ้าภาพของโอลิมปิกครั้งต่อไป วัฒนธรรม ความเชื่อ และค่านิยมของพวกเขาที่มีต่อรอยสักถูกส่งต่อภาพลักษณ์ด้านลบมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะการที่ถูกสังคมมองว่ารอยสักเป็นเรื่องราวของกลุ่มคนไม่ดีอย่างยากูซ่า หรือไม่ก็นักเลงอย่างพวกชาวแก๊งค์ต่าง ๆ มุมมองเชิงลบที่มีต่อคนที่มีรอยสักทำให้เกิดจารีตต้องห้าม เช่น การห้ามคนมีรอยสักใช้สระว่ายน้ำสาธารณะ การห้ามใช้ห้องแช่บ่อน้ำร้อนร่วมกับคนทั่วไป ซึ่งกรณีนี้มันเลยเถิดไปถึงชาวต่างชาติอย่าง อีเรน่า เท บรีเวอตัน นักเรียนทุนจากนิวซีแลนด์ที่ถูกห้ามลงบ่อน้ำร้อนในฮอกไกโด เนื่องจากรอยสักแบบเมารีบนใบหน้าของเธอ

โยชิฮิโตะ นากาโน่ หรือที่รู้จักกันในฉายา “โฮริโยชิ ที่ 3” ยอดนักสักคนดังชาวญี่ปุ่นวัย 72 ปี เขาคือนักสักเต็มตัวตามวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่เรียกว่า Irezumi หรือ Horimomo มาอย่างยาวนาน เขาไม่ได้เกี่ยวพันกับยากูซ่า แต่หลงใหลในสีสันและลวดลายที่ได้เห็นจากรอยสักของคนเหล่านั้นตั้งแต่อายุแค่สิบกว่าขวบ ถึงขนาดว่าต้องดั้นด้นไปขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของช่างสักระดับตำนานที่ชื่อ โยชิซึกุ มูรามัตซึ ชายที่ถูกเรียกว่าเป็น Shodai Horiyoshi of Yokohama หรือผู้ก่อตั้งสมาคมสักแห่งโยโกฮาม่า ที่นั้นนากาโน่ได้เรียนจากชายผู้เป็นโฮริโยชิ รุ่นที่ 2 ทำให้เขาได้สืบทอดตำแหน่งรุ่นที่ 3 ในเวลาต่อมา เมื่อฝีมือเป็นที่ประจักษ์ นากาโน่ หรือโฮชิโยริ รุ่น 3 ก็ได้ทำงานสายนี้ เขาสร้างรอยสักทั้งคนในโลกด้านมืดและคนในโลกปกติ

นากาโน่มองเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวงที่จะเกิดขึ้นเมื่อโอลิมปิกที่โตเกียวเริ่มต้นขึ้น โดยเฉพาะในวันที่ความพยายามเรียกร้องให้การสักรอยเป็นสิ่งผิดกฎหมายในญี่ปุ่น หากไม่สามารถแสดงใบอนุญาตทางการแพทย์เพื่อสร้างผลงานเหล่านั้น ในขณะที่นักสักต่างมองว่ามันเป็นวัฒนธรรมที่แตกต่างไป มันไม่ได้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวงการแพทย์เสียหน่อย

“จะมีนักกีฬาและนักท่องเที่ยวมากมายมาที่ญี่ปุ่นในช่วงเวลาดังกล่าว พวกเขามีรอยสักที่มันมาจากต่างวัฒนธรรม มันจะเป็นอย่างไรถ้าคนเหล่านั้นไม่ได้นับอนุญาตลงฝึกซ้อมหรือทำกิจกรรมเพราะติดข้อห้ามเรื่องรอยสัก? สังคมจะมองเรื่องนี้แบบไหน?” เป็นคำถามที่นากาโน่ถามเผื่อไปถึงทัศนคติเรื่องการสักของสังคมชาวญี่ปุ่น

บรรดานักกีฬาและนักชมกีฬาที่จะเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกในปี 2020 บางคนจะไปเปิดเผยรอยสักในฐานะสมาชิกผู้มีส่วนร่วมในการแข่งขันครั้งแรก บางคนเป็นครั้งที่สอง และบางคนมากครั้งกว่านั้น พวกเขามาด้วยความภาคภูมิใจที่จะมีสัญลักษณ์ห่วงทั้งห้าบนส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ในวันที่การสักเป็นแฟชั่นอย่างหนึ่ง บางคนจะได้นำเสนอรอยสักที่เป็นทั้งความทรงจำ ความศรัทธาและความเชื่ออันงดงามของพวกเขา

โอลิมปิก 2020 บนแผ่นดินญี่ปุ่นที่มีจารีตและความเชื่อด้านลบเกี่ยวกับคนที่มีรอยสักจะได้เผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนไปตลอดกาล

ลูคัส ดีญ ผมไม่เคยเดินเดียวดายในเมืองที่คุณจะไม่มีวันเดินเดียวดาย

ในเมืองลิเวอร์พูลมีสองสีจากสองสโมสรฟุตบอลใหญ่ หนึ่งคือสีแดงของลิเวอร์พูล และอีกหนึ่งคือสีน้ำเงินของเอฟเวอร์ตัน ในสายตาของคนนอกที่อาจจะได้ยินชื่อเสียงของลิเวอร์พูลมากกว่าจะแบ่งพวกเขาเป็นที่หนึ่งหรือที่สอง แต่สำหรับคนเมืองนี้พวกเขาต่างก็เป็นที่หนึ่ง และอีกทีมคืออีกหนึ่งเสมอ

ลิเวอร์พูลเติบโตก้าวไปไกลกว่าในอาณาจักรฟุตบอลที่ครอบคลุมไปทั่วโลก สโลแกนของพวกเขาที่ว่า You’ll never walk alone กลายเป็นวลีอมตะ ดังนั้นหากใครสักคนที่เปลี่ยนแปลงถ้อยคำนี้ไป เขาต้องไม่ใช่แฟนบอลลิเวอร์พูลแน่นอน และ ลูคัส ดีญนักเตะหน้าใหม่ของเอฟเวอร์ตันคือใครคนนั้น

ไม่กี่วันหลังมีข่าวผู้เล่นสัญชาติฝรั่งเศสรายนี้ย้ายจากบาร์เซโลน่า ยักษ์ใหญ่ในสเปนมาอยู่เอฟเวอร์ตันตอนก่อนเปิดฤดูกาล 2018 นี้เอง มีคนตาดีไปสังเกตเห็นรอยสักพาดบนหน้าอกของดีญในตอนที่เขาเข้ารับการตรวจร่างกาย ข้อความนั้นเขียนว่า “I Never Walk Alone” แล้วจากนั้นก็เกิดเป็นไวรัลเรื่องนี้บนโลกโซเชียล เดือดร้อนดีญต้องออกมาเฉลยว่ามันไม่เกี่ยวข้องกับอีกสโมสรร่วมเมืองที่ชื่อลิเวอร์พูลเลย แม้ว่าเขาจะถูกตามจีบจากสโมสรสีแดงมาแล้วถึงสองครั้งก็ตาม

ผมปฏิเสธการย้ายไปอยู่กับพวกเขาตั้งสองรอบเชียวนะดีญหมายถึงการที่เขาเลือกย้ายจากลีลล์ไปปารีส แซงต์ แชร์กแมงในครั้งแรก และย้ายไปบาร์เซโลน่าในครั้งที่สอง ซึ่งเป็นการเลือกปฏิเสธคำชักชวนจากสโมสรลิเวอร์พูล

คำอธิบายที่ดีญเลือกกล่าวถึงเรื่องรอยสักนี้เกี่ยวข้องกับวัยเด็กของเขา ในตอนสามหรือสี่ขวบที่เขาไปโรงเรียนครั้งแรก พ่อกับแม่สวมสร้อยคอที่มันเขียนคำนี้ไว้ จนกระทั่งอายุ 18 เขาก็ตัดสินใจสักข้อความนี้ไว้บนหน้าอก มาถึงตรงนี้ดีญเชื่อว่าแฟนบอลลิเวอร์พูลที่ไม่รู้ความจริงของมันก็คงนึกโกรธเพราะเขาเซย์ โนใส่ทีมที่พวกนั้นรักตั้งสองครั้งสองครา

You’ll never walk alone เสมือนบทเพลงประจำชาติของชาวหงส์แดง บทเพลงนี้เริ่มต้นมาจากเพลงของริชาร์ด ร็อดเจอร์กับออสการ์ แฮมเมอร์สไตน์ที่ 2 ที่ช่วยกันบรรจงแต่งขึ้นมาในปี 1945 สำหรับใช้ในละครเพลง Carousel ละครเพลงเรื่องที่สองที่พวกเขาจัดแสดง หลังจากนั้นอีก 18 ปี แกรี่ แอน เดอะ พีชเมกเกอร์ วงบอย กรุ๊ป สไตล์เดียวกันกับวงเดอะ บีทเทิ้ลก็เอามันมาขับร้องใหม่ในสไตล์ปัจจุบันและมันขึ้นติดท็อป ชาร์ตเพลงในปี 1963

บิล แชงค์ลี่ย์คือผู้จัดการทีมคนสำคัญที่รับเอาเพลงนี้เข้ามาสู่สโมสรอย่างเป็นทางการ ทีแรกก็เป็นแค่เรื่องราวของคนในสโมสรและแฟนบอล แต่ในอีก 2 ปีให้หลัง เมื่อแฟนบอลลิเวอร์พูลร้องเพลงนี้หลังเกมเอาชนะลีดส์ในนัดชิงเอฟเอคัพ 1965 ที่เวมบลีย์ เคนเน็ธ โวลส์เท่นโฮล์ม คอมเมนเตเตอร์ในวันนั้นพูดขึ้นมาว่า นี่มันเป็นลายเซ็นทางเสียงของสโมสรลิเวอร์พูลเลยนะ

ตั้งแต่นั้นมาเรื่องราวของบทเพลง You’ll never walk alone ก็สืบสานผ่านการร้องของเหล่าแฟนบอลลิเวอร์พูล แล้วก็ขยายไปเป็นเพลงประจำของอีกหลายสโมสรในยุโรป กลายเป็นแรงบันดาลใจให้อีกหลายสโมสรและหลายชาติสร้างเพลงที่เป็นธีมของพวกเขาขึ้นมา แต่หากพูดถึง You’ll never walk alone แล้วก็ต้องนึกถึงลิเวอร์พูลเป็นอันดับแรกนั่นแหละ

ลูคัส ดีญ กับข้อความที่เพี้ยนไปจากประโยคที่คนทั้งโลกรู้จัก กลายเป็นความสงสัยใคร่รู้ แม้คำอธิบายว่ามันเกิดขึ้นจากข้อความบนสร้อยคอเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว และเขาก็สักมันตั้งแต่ตอนอายุ 18 ด้วย มันจะเป็นไปได้ไหมว่าแท้จริงแล้วเขาแค่จำข้อความผิด และที่จริงแล้วมันคือข้อความเดียวกัน

แดเนี่ยล แอกเกอร์ จากลูกหนังสู่ช่างสัก

อาชีพพ่อค้าแข้งถูกเข้าใจดีโดยตัวนักเตะว่ามันเป็นเวลาเพียงช่วงสั้น ๆ ของชีวิตเท่านั้น เมื่อถึงวันหนึ่งอายุขัยและร่างกายจะบอกคุณเองว่าถึงเวลาต้องเลิกราจากมันแล้ว เมื่อนั้นแหละที่เส้นทางใหม่ในชีวิตคุณจะเปลี่ยนไป

แดเนี่ยล แอกเกอร์ เป็นหนึ่งในนักฟุตบอลที่หนีไม่พ้นเรื่องราวเดียวกันนี้ หลังจากได้มีโอกาสเล่นฟุตบอลให้กับสโมสรลิเวอร์พูล สโมสรในดวงใจ มันก็เหมือนจุดสูงสุดในอาชีพนักฟุตบอลถูกทำจนสำเร็จแล้ว ระหว่างปีท้าย ๆ แอกเกอร์รู้ดีว่าวันหนึ่งการได้ใช้เวลาในสโมสรแห่งนี้จะสิ้นสุดลง และเขาต้องจากไป

เส้นกราฟชีวิตของแอกเกอร์เดินทางอย่างสวยหรู เริ่มต้นชีวิตฟุตบอลที่บรอนด์บี้ สโมสรในเมืองเกิด โชว์ฟอร์มได้ดีจนถูกตาแมวมองของสโมสรลิเวอร์พูลในอังกฤษ ได้ย้ายไปเล่นที่ลิเวอร์พูลตั้งแต่ปี 2006-2014 ปี พร้อมกันนั้นก็ติดทีมชาติเดนมาร์ก พอถึงวันหนึ่งเส้นทางอาชีพนักเตะก็จบลงเหมือนคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าได้ และในปี 2016 กับอายุเข้าเลข 3 แดเนี่ยล แอกเกอร์ก็ประกาศเลิกเล่นฟุตบอลอย่างเต็มตัว มันเป็นช่วงหลังย้ายจากลิเวอร์พูลที่เขาใช้เวลารับใช้สโมสรนานถึง 8 ปี เพื่อกลับมาเล่นช่วงสั้น ๆ ให้กับบรอนด์บี้ สโมสรแรกในบ้านเกิดที่เดนมาร์ก

ระหว่างที่อยู่ลิเวอร์พูล แอกเกอร์ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่ให้ความสนใจรอยสักมาก เขามีรอบสักไวกิ้งบนแขนขวาและตลอดแผ่นหลัง ตลอดจนข้อความทั้งในแบบภาษาเดนมาร์กและภาษาอังกฤษบนตัวและแขน โดยในแต่ละปีร่างกายของเขาจะถูกอุทิศให้กับการสักลวดลายต่าง ๆ ลงไป ซึ่งพอถึงตอนที่เขาต้องอำลาสโมสรลิเวอร์พูลอันเป็นที่รัก ร่างกายของแอกเกอร์ก็มีรอยสักอยู่เต็มทุกพื้นที่ รวมไปถึงตัวอักษร YNWL และนกไลฟ์เวอร์เบิร์ดบนหลังนิ้วมือขวา ที่ซึ่งจะเตือนใจถึงช่วงเวลาที่รับใช้สโมสรไปจนชั่วชีวิต

ในช่วงปี 2012-2013 แดเนี่ยล แอกเกอร์เผชิญช่วงยากลำบากเมื่อมีอาการบาดเจ็บต่อเนื่องจนไม่ค่อยได้ลงสนาม แอกเกอร์ก็เลยได้มีเวลาคิดหางานสำหรับอนาคตหลังจากเลิกเล่น เขาย้อนมาทบทวนตัวเองว่านอกจากฟุตบอลแล้วมีอะไรทีเขามีความสุขกับมันบ้าง คำตอบที่แอกเกอร์พบคือการทำงานเกี่ยวกับงานสัก เมื่อค้นพบความชอบในเรื่องนี้ แอกเกอร์ไม่รอช้าที่จะลงเรียนการสักอย่างจริงจัง และเมื่อพร้อมกับการเริ่มต้นธุรกิจใหม่และอาชีพใหม่ แอกเกอร์ก็หาแนวร่วมในการเปิดร้านรับสักที่เดนมาร์ก เขาร่วมกับเพื่อนสนิทอย่างคริสเตียน สตาดิล เจ้าของแบรนด์ชุดกีฬาฮัมเมลและช่างสักมือดีชาวอเมริกัน-อียิปต์ อามี่ เจมส์ ภายใต้ชื่อ Tattodoo ปรากฏว่ามันไปได้สวย แพลตฟอร์มของ Tattodoo กลายเป็นผู้นำเทรนด์ของรอยสักใหม่ ๆ บนโลกโซเชี่ยลที่ถึงตอนนี้มีคนเขามาใช้งานมากกว่า 20 ล้านคน

ไม่ใช่แค่เรื่องของรอยสัก แอกเกอร์ยังมองถึงการลงทุนอย่างอื่นไปด้วย และเห็นช่องทางบางอย่าง ก่อนเริ่มต้นลงทุนธุรกิจกำจัดของเสียและปฏิกูลในสเปน ภายใต้ชื่อ KloAgger โดยลงทุนเงินกับพี่ชาย ลุงและเพื่อนในวัยเด็กของเขา มันไปได้สวยพอดูสำหรับธุรกิจนี้เช่นกันหลังเริ่มต้นมันในปี 2015

เจย์ อาจายี่ ลอนดอนเนอร์ในหัวใจ

ในฐานะคนอังกฤษ เจย์ อาจายี่ไม่ได้เป็นนักกีฬาคนดังที่คนอังกฤษรู้จักมากนัก แถมเขายังไม่เคยมีตัวตนสำหรับคนอังกฤษด้วยซ้ำ ทำไมน่ะหรือ? นั่นก็เพราะความดังของเขามันอยู่ที่อีกทวีปหนึ่งต่างหาก

ในเกมซุปเปอร์โบวล์ครั้งที่ 52 ซึ่งเป็นครั้งล่าสุด ฟิลาเดลเฟีย อีเกิ้ลตัวแทนจากฝั่ง NFL สามารถปราบนิวอิงแลนด์ แพทริอ็อตตัวแทนฝั่ง AFC ได้ 41 ต่อ 33 หลังจบเกมผู้คนได้เห็นเจย์ อาจายี่คลุมธงยูเนี่ยนแจ็ควิ่งเฉลิมฉลองไปกับเพื่อนร่วมทีม มันทำให้คนอังกฤษได้รับรู้ความมีตัวตนในฐานะคนอังกฤษของเขา

เจย์ อาจายี่เกิดในครอบครัวชาวไนจีเรียอพยพทางตะวันออกของลอนดอนเมื่อ 24 ปีที่แล้วในวันที่ 15 มิถุนายน 1993 ก่อนที่พ่อแม่จะพาเข้าย้ายไปอยู่รัฐแมรี่แลนด์ที่สหรัฐอเมริกาตอนเขาอายุ 7 ขวบ การเติบโตขึ้นมาท่ามกลางสังคมอเมริกันทำให้กีฬาที่เขาเลือกเอาดีคืออเมริกันฟุตบอลที่มันสามารถต่อยอดไปสู่อนาคตที่ดีได้ ไม่ใช่เกมซอคเก้อร์ที่คนอเมริกันแทบไม่มอง ที่สำคัญต่อให้รักฟุตบอลแค่ไหน แต่เขาจะหาเพื่อนได้อย่างไรถ้าทุกคนเล่นอเมริกันฟุตบอลกันหมด

บนเส้นทางสายคนชนคน อาจายี่ก้าวตามสเต็ปด้วยการเป็นนักกีฬามหาวิทยาลัยของบ้อยซ์ สเตทก่อนถูกดราฟท์เข้าร่วมทีมอาชีพโดยไมอามี่ ดอลฟินส์ในปี 2015 เขาเล่นได้อย่างยอดเยี่ยมจนติด 100 ผู้เล่นดีที่สุดของฝั่ง NFL ในลำดับที่ 69 แต่นั่นก็ยังไม่ทำให้คนอังกฤษรู้จักเขาอยู่ดี

ฤดูกาล 2017 อาจายี่เริ่มต้นกับไมอามี่ ดอลฟินส์ได้สวย เขาลงเล่นไป 7 เกมและทำผลงานดีพอใช้ แต่พอเดือนตุลาคมซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนแปลงทีมกลางฤดูกาลเขาถูกเทรดย้ายจากดอลฟินส์ไปอยู่กับพิลาเดลเฟีย อีเกิ้ลอย่างน่าประหลาดใจ แต่ก็อาจจะเป็นชะตาที่กำหนดโดยพระเจ้าที่เขาศรัทธา ที่นี่เองที่เขาก้าวขึ้นมาถึงการเป็นแชมป์ซุปเปอร์โบวล์ร่วมกับเพื่อนร่วมทีมในอีก 5 เดือนต่อมา กล้องทีวีจับภาพที่เขาเอาธงชาติเครือจักรภพมาคลุมไหล่วิ่งไปทั่ว และนั่นเป็นช่วงเวลาที่คนอังกฤษได้รู้แล้วว่ามีคนเกิดที่อังกฤษแต่มาคว้าแชมป์อเมริกันฟุตบอลอยู่ตรงนี้อีกคน

ก่อนเดินทางมาอเมริกา อาจายี่ก็เหมือนเด็กลอนดอนทั่วไปที่หลงใหลเกมฟุตบอล เขามีอาร์เซน่อลเป็นสโมสรหนึ่งเดียวในใจ เมื่อผู้คนเริ่มสนใจตัวตนของอาจายี่มากขึ้น พวกเขาก็ได้พบว่าอาจายี่เดินทางมาเชียร์อาร์เซน่อลทีมรักหลายครั้ง เขาสวมหมวกไหมพรมลายธงยูเนี่ยนแจ็คใบโปรดอยู่เสมอ ที่สำคัญเขาสักหอนาฬิกาบิ๊กเบนไว้แทนความทรงจำว่าเป็นชาวลอนดอนเนอร์กับเขาอีกคนไว้บนไหล่ขวา แม้ว่าจะจากมานานมากแล้วก็ตาม ซึ่งมันก็เข้าคู่กันกับรูปเทพีเสรีภาพที่อยู่บนไหล่ซ้ายเพื่อแสดงถึงประเทศที่เติบโตมา และตัวอักษร H ตัวใหญ่บนกล้ามแขนขวาที่เขาบอกว่าย่อมาจากชื่อย่านแฮกนี่ย์ (Hackney) ที่เขาเกิด

ฟิลาเดลเฟีย อีเกิ้ลถูกวางโปรแกรมให้มาเปิดฤดูกาล 2018 กับแอตแลนต้า ฟอลคอนส์ ที่เวมบลีย์ตอนต้นเดือนกันยายนตามการทำสัญญาขยายตลาดของอเมริกันฟุตบอล อาจายี่เดินทางกลับมาลอนดอนอีกครั้งในแบบที่แตกต่างไป ด้วยการมีฐานะเป็นแชมป์ซุปเปอร์โบวล์ที่เกิดในลอนดอนคนที่ 5 ในประวัติศาสตร์ ในที่สุดเขาก็ได้ย่างเท้าลงมายังจุดเริ่มต้นเพื่อสัมผัสสนามที่เขาใฝ่ฝัน

“รักแรกของผมคือฟุตบอล คุณเข้าใจใช่ไหมว่ามันคือไอ้ลูกกลม ๆ ในฐานะเด็กอังกฤษที่โตมาในอเมริกา ผมยังจำความฝันวัยเด็กได้นะว่าอยากติดทีมชาติอังกฤษ อยากยิงประตูที่เวมบลีย์ หรือไม่ก็เล่นให้อาร์เซน่อล นี่มันบ้ามากที่ผมมาในฐานะนักอเมริกันฟุตบอล รู้สึกแปลก ๆ แต่มันก็พิเศษไปเลยเหมือนกัน” อาจายี่ให้สัมภาษณ์สื่อไปแบบนี้ระหว่างกลับมาลอนดอนในฐานะคนดัง

อังเดร เกรย์ กับรอยสักรูปเหล่านักสิทธิพลเมือง

แผ่นหลังของนักกีฬาหนึ่งคนบอกเล่าเรื่องราวแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่แล้วพวกเขามักสักอะไรบางอย่างเพื่อใช้แทนความทรงจำ หรือไม่ก็เพื่อต้องการระลึกถึงอะไรบางอย่าง แต่จะมีกี่คนที่สักในสิ่งที่บ่งบอกถึงอุดมการณ์ของตัวเอง

อังเดร เกรย์เกิดที่วูล์ฟแฮมตันในปี 1991 เติบโตขึ้นมาอย่างยากลำบากและสุ่มเสี่ยงที่จะมีชีวิตบนโลกด้านมืด เขาโชคดีที่มีพอจะมีฝีเท้าในเชิงลูกหนังและมีโอกาสได้ฝึกฝนในอะคาเดมี่ของวูล์ฟแฮมตันเมืองบ้านเกิด แต่พออายุ 13 ปี เขากลับโดนปล่อยตัวจากทีมอะคาเดมี่ แต่สิ่งนี้เกรย์ก็ไม่ได้แยแส เขาเลือกเดินทางไปทดสอบฝีเท้าที่ชรูว์บิวรี่ ทาวน์ ได้เข้าอะคาเดมี่และเซ็นสัญญาเป็นนักเตะในเวลาต่อมา

และไม่นานเขาก็โดนให้ออกจากทีมชรูว์บิวรี่ ซึ่งเช่นเคยเขายักไหล่ให้กับมันและออกหาทีมที่สนใจจ้างกองหน้าที่ยิงประตูเป็น ด้วยฝีเท้าที่ดีทำให้ต่อมาเกรย์ได้เล่นให้ทีมนอกลีกอย่างเทลฟอร์ด ยูไนเต็ดและฮิ้นซเลย์ ยูไนเต็ด ทว่าทุกที่เต็มไปด้วยความไร้จุดหมายสำหรับชีวิตนักเตะพาร์ทไทม์ของอังเดร เกรย์ เมื่อเขาพึงพอใจแค่การได้ลงเตะและมีคนจ่ายค่าแรงให้ไปวัน ๆ

แล้วจุดเปลี่ยนทางความคิดเกิดขึ้นเมื่อเขาหันมามองตัวเองในฐานะนักเตะอาชีพ มันกลายเป็นจังหวะที่เขาค้นพบว่าไม่มีอะไรสำคัญในชีวิตไปกว่าการได้เป็นนักเตะอาชีพเต็มตัว การเป็นนักฟุตบอลเป็นเพียงสิ่งเดียวที่สร้างชีวิตของเขาให้ดีขึ้นไปได้ จากนั้นทุกสิ่งทุกอย่าง การฝึก การลงแข่งก็กลายเป็นสิ่งที่มีความหมาย และเมื่อเขาเดินบนเส้นทางที่ถูก อังเดร เกย์ค่อย ๆ ไต่ระดับทีมขึ้นมาจากลูตัน ทาวน์ ทีมนอกลีกในปี 2012 เบรนด์ฟอร์ด ทีมระดับลีกวันในปี 2014 ต่อด้วยเบิร์นลี่ย์ ทีมบนเวทีแชมเปี้ยนชิพในปี 2015 เขาเข้าใกล้ปลายทางลีกสูงสุดของอังกฤษอีกแค่ก้าวเดียวเท่านั้น และมันเป็นเขาที่ช่วยให้เบิร์นลี่ย์เลื่อนชั้นขึ้นมาจริง ๆ ในฤดูกาลต่อมา ถึงตอนนี้เขากลายเป็นหนึ่งในกองหน้าที่มีชื่อเสียงพอตัว เมื่อมองย้อนไปว่าเริ่มต้นเรื่องราวอย่างไร้อนาคตที่ดีจนได้ย้ายมาอยู่กับวัตฟอร์ดที่เป็นสโมสรล่าสุด

ก่อนเริ่มฤดูกาล 2017 อังเดร เกรย์ นักฟุตบอลวัย 27 แห่งทีมวัตฟอร์ดมีเรื่องให้ฮือฮา เมื่อเขามีรอยสักใหม่เต็มแผ่นหลังมาอวด มันเป็นรูปที่เขาใช้เวลาแปดเกือบเก้าชั่วโมงในการทนให้ช่างบรรจงวาดสิ่งที่เขายกย่องลงไป เรื่องราวของคนและกลุ่มคนที่เป็นนักต่อสู้เรียกร้องสิทธิพลเมืองแอฟริกัน-อเมริกันที่มีชื่อเสียงจำนวนสิบคนซึ่งถูกยกย่องไปทั่วโลก อาทิ เนลสัน เมนเดลล่า ประธานาธิบดีของแอฟริกาใต้, มูฮัมหมัด อาลี ยอดนักมวยรุ่นเฮฟวี่เวท, โรซ่า ปาร์กเกอร์ ผู้ไม่ยอมถูกย้ายที่นั่งบนเครื่องบินเพียงเพื่อให้คนผิวขาวได้ที่นั่งเธอไป, บ็อบ มาร์เล่ย์ ราชาเพลงเร็กเก้ชาวจาไมก้า หรือมาร์ติน ลูเธอร์ คิงส์ นักพูดและนักเรียกร้องความยุติธรรมให้คนผิวสีชาวอเมริกัน ตัวบุคคลและเรื่องราวถูกนำภาพมาจัดวางไว้บนแผ่นหลังของนักเตะชาวเมืองผู้ดีรายนี้

“การรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิพลเมืองเป็นบางอย่างที่ผมสนใจมากที่สุด” เกรย์เริ่มต้นเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับมันหลังถูกไล่ตามสัมภาษณ์แทบในทันทีที่เขาเผยภาพออกมา เกรย์เล่าว่ามันเริ่มต้นเมื่อสามปีที่แล้วตอนเขาอายุ 23 ปี เขาได้มีโอกาสอ่านเรื่องราวเหล่านี้และเห็นผ่านตาทางทีวี พอเริ่มต้นตามหาอ่านเรื่องราวของหนึ่งคน มันก็นำไปสู่อีกคนและอีกคน

ในบรรดาคนดังที่อยู่บนหลัง อังเดร เกรย์เลือกมาร์คัส การ์วีย์เป็นที่สุดของความยกย่อง ชายผู้เป็นกลจักรสำคัญของการต่อสู้ปฏิวัติเพื่อทวงคืนอิสรภาพของทาสผิวดำและแรงงานอพยพทั้งหลายบนแผ่นดินจาไมก้า รวมไปถึงทุกพื้นที่ทั่วโลก การ์วีย์เติบโตมาด้วยการเห็นทุกข์ยากของคนนิโกรและแรงงานอพยพที่ถูกปกครองแบบไม่เป็นธรรมจากนายจ้างชาวยุโรป

หลังมีโอกาสได้ทำงานและเดินทางไปทั่วทั้งในอเมริกาใต้ อังกฤษและอเมริกา อังเดร การ์วีย์มีโอกาสเลือกชีวิตที่ยืนฝั่งเดียวกันกับคนผิวขาว แต่การได้พบปะคนดำมากมายที่มีแนวคิดเดียวกันคือการคืนความเท่าเทียมกันของมนุษย์จากคนขาวสู่คนดำทั้งหลาย สุดท้ายเขาตัดสินใจเลือกที่จะอยู่ข้างคนผิวดำเหมือนกัน ทำให้ต่อมาเขาได้ก่อตั้งสองสิ่งที่สำคัญมากในการใช้เป็นเครื่องมือดำเนินการสู่เป้าหมายเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียม นั่นคือสมาคม UNIA (Universal Negro Improvement Association) ซึ่งมีแนวคิดพาคนดำกลับสู่แอฟริกาถิ่นฐานบ้านเกิด และสองคือการก่อตั้งหนังสือพิมพ์นิโกร เวิร์ลด์ที่ใช้เป็นกระบอกเสียงสำหรับคนดำ คนแอฟริกันและแรงงานอพยพทั้งหมาย สุดท้ายแม้จะไม่สามารถทำได้สำเร็จ แต่มาร์วีย์ก็สามารถเพาะเมล็ดพันธุ์ในการเรียกร้องสิทธิของชาวผิวดำให้เป็นอุดมการณ์และแนวทางของอีกหลายสิบล้านคน

ตลอดช่วงซัมเมอร์ของปี 2017 ความสนใจทั้งหมดของอังเดร เกรย์มุ่งไปที่การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการปฏิวัติเรียกร้องสิทธิพลเมืองมากกว่าเรื่องย้ายทีมเสียอีก เขาอ่านหนังสือจำนวนมาก ดูสารคดีเกี่ยวกับคนเหล่านี้ แถมยังเดินทางไปเยือนพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ต่าง ๆ มันซึมซับและกลายเป็นส่วนสำคัญในการมองชีวิตของเขามากขึ้น

นาตาชา ไค สาวลายสักหัวใจนักสู้แห่งท้องทะเล

บรรดาเซเลบสาววงการกีฬาไม่น่าจะมีใครที่สะสมรอยสักมากเท่านาตาชา ไคอีกแล้ว เพราะในขณะที่สาวนักกีฬาคนอื่น ๆ (เว้นบรรดานักสู้ UFC และ MMA) มีรอยสักเสมือนเป็นเครื่องประดับ แต่นาตาชาสักรอยบนร่างกายของเธอด้วยความศรัทธา

นาตาชา ไค เกิดในปี 1983 ที่ฮาวาย รัฐกลางมหาสมุทรแปซิฟิคของสหรัฐอเมริกา ว่ากันว่าชาวฮาวายสืบเชื้อสายมาจากชนชาวโพลีนิเชี่ยน นักเดินทะเลที่ยิ่งใหญ่จากหมู่เกาะทะเลใต้ ดังนั้นศิลปะและวัฒนธรรมเกี่ยวกับชาวโพลีนิเชี่ยนและชาวฮาวายจึงคล้ายคลึงกันมาก ลวดลายรูปคลื่นและเรื่องราวเกี่ยวกับทะเลถูกวาดลงบนแขนขวาของนาตาตั้งแต่ข้อมือขึ้นไปถึงหัวไหล่ และตั้งแต่สะโพกลงไปจนตลอดขาขวาด้วย มันมีความเป็นสัญลักษณ์แบบชาวเกาะฮาวาย ริ้วคลื่น ใบไม้ ทางมะพร้าว รวมไปถึงดอกชบา ดอกไม้สัญลักษณ์ของชาวฮาวายถูกบรรจงรังสรรค์ไว้อย่างสวยงาม

ตอนอายุ 5 ขวบ นาตาชาเจออุบัติเหตุใหญ่ ชิ้นแก้วที่แตกเสียบที่เท้า มันร้ายแรงขนาดที่หมอวินิจฉัยว่าเธออาจจะวิ่งไม่ได้ แต่ที่สุดเธอก็ฟื้นตัวกลับมาอย่างแข็งแกร่ง การเติบโตในฐานะนักกีฬาฟุตบอลอาชีพและติดทีมชาติเป็นไปไม่ได้เลยหากอยู่ที่ฮาวาย นั่นคือสิ่งที่นาตาชาคิด เมื่อจำเป็นต้องเลือกนาตาชาจึงออกเดินทางมาสู่แผ่นดินใหญ่ โดยมีโปรไฟล์ผลงานที่ดีระหว่างเล่นทีมมหาวิทยาลัยแห่งรัฐฮาวาย

การอยู่ห่างไกลบ้านเกิดทำให้เธอต้องหาสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ แผ่นหลังของนาตาชามีเต่าทะเลในรูปแบบศิลปะฮาวาย และบนหลังเท้าขวาก็มีแผนที่รัฐฮาวายบ้านเกิด ในไม่ช้านาตาชาก็เพิ่มรอยสักลงไปอีก เธอสักชื่อไคไว้ที่ด้านหลัง สัญลักษณ์ราศีเมถุนที่เป็นราศีเกิดบนหัวไหล่ซ้าย ที่สีข้างด้านขวานาตาชาสักเนื้อเพลงที่เธอแต่งด้วยตัวเอง มันบรรยายว่า “ในช่วงเวลาอันน่าชื่นชม สมบัติลล้ำค้าที่สุดในโลกคือหัวใจของฉัน และฉันแบ่งปันมันให้กับคุณ จงปกป้องมันราวกับเป็นหัวใจคุณเอง” ซึ่งไคอธิบายว่ามันช่วยให้เธอจดจำว่าตัวเองเป็นคนที่แข็งแกร่ง เธอต้องทำให้ตัวเองแข็งแกร่ง แล้วคนรอบข้างก็จะรู้เองว่าเธอแข็งแกร่งและเป็นคนดี บนตัวของนาตาชามีรอยสักรวมแล้วมากกว่า 60 ชิ้นซึ่งมันทำให้เธอดูโดดเด่นและแตกต่างท่ามกลางนักกีฬารายอื่นโดยตลอดเวลาที่ลงแข่งขัน

การต้องต่อสู้ไกลบ้านต้องใช้หัวจิตหัวใจที่แข็งแกร่ง นาตาชาสู้กับคำดูถูกเรื่องการเป็นสาวบ้านนอก แต่เธอก็ค่อย ๆ สร้างผลงานและติดทีมชาติสหรัฐ กลายเป็นนักกีฬาฟุตบอลหญิงคนแรกจากรัฐห่างไกลอย่างฮาวาย ที่ได้รับเลือกเข้าทีมฟุตบอลหญิงชุดใหญ่ของประเทศ

เรื่องสำคัญหนึ่งอย่างเกี่ยวกับการเป็นนักเตะทีมชาติ คือการที่เธอไม่เคยเกี่ยวข้องใด ๆ กับสารบบทีมชาติมาก่อน โอกาสเดียวที่เธอได้สัมผัสคือการเข้าแคมป์เก็บตัวนักกีฬาชุดอายุไม่เกิน 21 ปี ในปี 2004 แตกต่างจากเพื่อนร่วมทีมรายอื่น ๆ ที่โตมาในระบบที่คุ้นเคยตั้งแต่ยังเป็นเยาวชนทั้งนั้น นาตาชา ไคผลักดันตัวเองจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในทีมชาติชุดนั้น ก่อนที่จะตามมาด้วยการสร้างผลงานยิง 12 ลูกจาก 6 เกม แต่มันก็ไม่ง่ายสำหรับการไต่สูงขึ้นไป เมื่อนาตาชาต้องใช้เวลาอีกถึง 2 ปีบนเวทีลูกหนังก่อนถูกเรียกขึ้นทีมชาติชุดใหญ่ รวมไปถึงการคว้าเหรียญทองโอลิปิกเกมส์ที่ปักกิ่งในปี 2008 ได้

แต่การต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของนาตาชา ไค ไม่ใช่เกมลูกหนัง หากแต่มันคือการลุกขึ้นมายอมรับว่าตัวเธอเป็นกลุ่มหญิงรักหญิง แม้ทั้งหมดจะมีจุดเริ่มต้นจากการหลุดคำสัมภาษณ์ให้กับเว็บไซต์ข่าวช่องหนึ่งก็ตามว่าเธอต้องเลิกกับแฟนสาวเพื่อเดินทางต่อไปบนถนนลูกหนังสายอาชีพ ยังโชคดีที่นาตาชาไม่ใช่เพียงผู้เล่นรายเดียวที่ประกาศตัวเป็นเลสเบี้ยนในปีนั้น เมื่อมีผู้เล่นทีมชาติสหรัฐอีกสองรายที่เผยว่าเป็นกลุ่มรักร่วมเพศเช่นกัน ทำให้เธอก้าวผ่านช่วงเวลานั้นได้

หลังปี 2009 การคว้าเหรียญทองโอลิมปิกและได้แชมป์ลีกฟุตบอลหญิงของประเทศ ประกอบกับอาการบาดเจ็บแล้วบาดเจ็บอีก นาตาชาในวัย 27 ปีเลือกกลับมาใช้ชีวิตที่ฮาวาย หลังจากที่รู้สึกถึงจุดอิ่มตัวแล้วในการเล่นฟุตบอล ที่เกาะฮาวายบ้านเกิด นาตาชามีเวลาพักผ่อน ใช้ชีวิตแบบห่างไกลจากกลิ่นลูกหนัง และได้เฝ้าดูแลคุณพ่อที่เป็นมะเร็งระยะสุดท้าย หากแต่คำขอร้องที่อยากเห็นลูกสาวกลับมาเล่นฟุตบอลอีกครั้งทำให้นาตาชารู้สึกสับสน ก่อนที่จะตัดสินใจเริ่มต้นเข้าฟิตเนสหลังการจากไปของพ่อในปี 2014 เธอทุ่มเทอย่างบ้าคลั่งในการฟิตซ้อมตัวเองสลับกับการจมอยู่ในความเศร้าจากการสูญเสีย จนที่สุดก็พร้อมจะลงเล่นให้บลู สกาย สโมสรแรกที่เธอเริ่มต้นเล่นฟุตบอล

มีนาคม 2016 นาตาชา ไตลงเล่นฟุตบอลอาชีพอีกครั้งในฐานะนักกีฬาของสโมสรบลู สกายท่ามกลางคนดูแค่ราว 500 คน นาตาชายิงประตูได้ติดต่อกันหลายเกม สัญชาตญาณนักล่ากลับมาสู้ตัวเธอ แต่เหนืออื่นใดเธอหัวเราะกับมันหลังจากใช้ชีวิตอย่างหม่นหมองมานาน ในวันที่เธอกลับมาลงเล่นอีกครั้ง บรรดาเพื่อนเก่าแก่ในวงการฟุตบอลต่างรีบทวีตส่งต่อข่าวนี้อย่างตื่นเต้น

พลังแห่งความฝันของเนย์มาร์ ที่เล่าผ่านการสักเรือนร่าง


“ผมเติบโตมากับสองความความฝัน เหมือนเด็กชายชาวบราซิลทั่วไปที่อยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพ และอีกฝันคืออยากเป็นซุปเปอร์ฮีโร่” นี่คือคำบอกเล่าของเนย์มาร์ นักเตะชาวบราซิล

ปี 2017 เนย์มาร์กลายเป็นนักกีฬาฟุตบอลอาชีพที่มีค่าตัวแพงที่สุดในโลก 222 ล้านยูโรในการย้ายทีมจากสโมสรบาร์เซโลน่า ทีมในลาลีก้า ประเทศสเปนไปอยู่กับสโมสรปารีส แซงต์ แชร์กแมง ในลีกประเทศฝรั่งเศส

เด็กชายเนย์มาร์เกิดในชุมชนแออัดชื่อโมกี้ ดาส ครูซส์ใกล้เมืองเซา เปาโลของประเทศบราซิล เนย์มาร์ ซานโตส ซีเนียร์ พ่อของเขาเป็นนักฟุตบอลที่ไม่ประสบความสำเร็จและต้องเลิกเล่นด้วยปัญหาอาการบาดเจ็บ เขาไม่มีเงินแม้แต่จะทำอัลตร้าซาวด์ตอนภรรยาตั้งท้องเนย์มาร์ด้วยซ้ำ ดังนั้นไม่ต้องคาดหวังว่าเนย์มาร์จะเติบโตมาแบบมีอันจะกิน เพราะบางช่วงของชีวิตในโมกี้ ดาส ครูซส์ ครอบครัวเนย์มาร์อยู่ด้วยแสงเทียนไม่ใช่จากหลอดไฟฟ้า แต่หลังจากเนย์มาร์เกิด ครอบครัวทนอยู่ที่โมกี้ต่ออีกหลายปี ในที่สุดเนย์มาร์ ซีเนียร์ก็ยอมจำนนและเดินทางกลับบ้านพ่อที่เซา วิเซนเต้ ที่ซึ่งคุณภาพชีวิตเนย์มาร์ดีขึ้นอีกเล็กน้อยในการอาศัยอยู่กับปู่และย่า

เนย์มาร์ถูกตั้งความหวังว่าเขาจะต้องเติบโตมาเป็นนักฟุตบอลอาชีพ อันจะนำมาซึ่งความเป็นอยู่ที่ดีของครอบครัว ดังนั้นเขาถูกฝึกอย่างหนักตั้งแต่เด็ก เนย์มาร์เริ่มวิ่งไล่ตามความฝันด้วยความอดทนเพื่อครอบครัว ไม่ช้าฝีเท้าของเขาก็ดีพอที่จะได้เข้าไปอยู่ในอะคาเดมี่ของสโมสรซานโตส สโมสรอันดับหนึ่งของเซา เปาโล และความจริงอย่างหนึ่งคือฝีเท้าของเขาไปเตะตาแมวมองระหว่างที่เตะบอลข้างถนนในวิเซนเต้นั่นเอง

เรื่องราวชีวิตและความฝันในวัยเด็กของเขาถูกสักไว้บนน่องซ้าย เป็นรูปเด็กชายไม่สวมเสื้อ สวมหมวกมีรูปธงบราซิล ยืนหันหลังกอดลูกฟุตบอลไว้ด้วยมือขวา แหงนหน้ามองชุมชนโมกี้ ดาส ครูซส์ เหนือสุดของรูปเป็นความฝันสามอย่างได้แก่บ้าน สนามฟุตบอล และถ้วยแชมเปี้ยนลีก เนย์มาร์เผยว่าเขาต้องสักมันไว้เพื่อใช้เป็นตัวระลึกถึงความจำเป็นที่เขาต้องสู้

เนย์มาร์ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วในการเล่นฟุตบอลที่บ้านเกิด เขาเซ็นสัญญาอาชีพตั้งแต่อายุ 16 ปี พาสโมสรซานโตสคว้าแชมป์ลีกแห่งชาติบราซิลได้ตั้งแต่อายุ 17 ปี พออายุ 19 ปี เขาก็พาทีมเป็นแชมป์ฟุตบอลรายการใหญ่สุดของทวีปอเมริกาใต้ หลังจากนั้นก็ย้ายมายังยุโรปด้วยค่าตัวเป็นที่ฮือฮาในยุคนั้นราว 88 ล้านยูโรที่บาร์เซโลน่ายอมทุ่มให้ ก่อนที่ในเวลาต่อมาปารีส แซงต์ แชร์กแมงจะตีราคาของเขาให้เป็นผู้เล่นที่มีค่าตัวสูงที่สุดในโลก แน่นอนว่าเนย์มาร์สามารถทำเงินได้ปีละมหาศาลจากการเป็นนักเตะอาชีพ เขามีบ้านหลังใหญ่เท่าที่อยากซื้อ เป็นนักกีฬาเหรียญทองในการแข่งขันฟุตบอลโอลิมปิก เป็นนักกีฬาอาชีพที่มีค่าตัวมหาศาลและคว้าแชมป์ฟุตบอลยุโรปถ้วยใหญ่สุดกับบาร์เซโลน่าในปี 2016 ก่อนสักรูปถ้วยแชมป์ไว้เป็นที่ระลึกบนน่องอีกข้าง มันเป็นการทำ 3 ความฝันของเขาสำเร็จหมดแล้วในวัยแค่ 25 ปีเท่านั้น

กับอีกความฝันที่เป็นไปไม่ได้ในชีวิตจริง นั่นคือการมีพลังเหนือธรรมชาติแบบฮีโร่ ในเมื่อมันเป็นจริงไม่ได้ ฉะนั้นมันจะเป็นอะไรไปหากว่าเขาจะกลายเป็นตัวการ์ตูนที่มีพลังวิเศษแทน เพียงแต่ว่ามันต้องรอเวลาที่เหมาะสม รอการเขียนเรื่องราวที่ใช่ และรอนักเขียนที่ถูกคน จนกระทั่งเดือนกันยายนที่ผ่านมา เนย์มาร์ก็ปรากฏตัวในรูปแบบคอมมิคซุปเปอร์ฮีโร่

นั่นคือในขณะที่เนย์มาร์เติบโตมาพร้อมกับความฝัน, รอยสักและความอยากเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ เขามีรูปแบทแมนและสไปเดอร์แมนบนแผ่นหลัง ซึ่งเพิ่งสักมาเมื่อไม่นานนี้ ขณะที่คริส ฟรานเนรี่ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ของทีมแฟน ออฟ เฟลม ซึ่งเป็นทีมเขียนการ์ตูนซุปเปอร์ฮีโร่ ก็จินตนาการไว้ว่าอยากได้ฮีโร่ที่มีพลังวิเศษบังคับรอยสักให้มีชีวิตได้ และมันก็กลายมาเป็น “Inked” คอมมิคซีรี่ย์ที่ชูตัวเนย์มาร์เป็นซุปเปอร์ฮีโร่ผู้มีพลังดึงรอยสักรูปสิงโตบนมือซ้ายของเขาให้ออกมามีชีวิต

“พวกเขาเขียนเรื่องราวในคอมมิคขึ้นมาให้สอดคล้องกับเรื่องราวชีวิตของผม ตั้งแต่เด็กแล้วผมโตมาโดยมีแบทแมนเป็นฮีโร่ในดวงใจ ผมหวังว่าตัวผมในคอมมิคจะเป็นแรงบันดาลใจและสร้างความบันเทิงให้กับคนทั่วโลกได้” เนย์มาร์เล่าถึงคอมมิคฮีโร่ของเขาอย่างภาคภูมิใจ และมันก็ทำให้ความฝันของเขาสำเร็จอีกเรื่องในวัย 26 ปีเท่านั้นเอง

พระเจ้าชื่อซลาตัน กับยันต์ไทยชื่อพระเจ้า

ซลาตัน อีบราฮีมอวิช อาจจะไม่ได้เป็นนักฟุตบอลที่เก่งกาจที่สุดในโลก แต่เขาก็อาจจะอยู่เหนือนักฟุตบอลทุกคนบนโลกในนี้แทน เพราะเขาคือ “พระเจ้า”

ในวงการฟุตบอลแล้วผู้ชนะนั้นอยู่บนยอดพีรามิดของการแข่งขัน และมันก็มีพื้นที่ให้แค่บางทีมเท่านั้นที่ไปถึง แต่จะว่าอย่างไรดีล่ะ? ซลาตันคือนักฟุตบอลที่ใช้ช่วงเวลาแบบผู้ชนะมาตลอด โดยตั้งแต่ปี 1996  ที่เขาเริ่มต้นเล่นฟุตบอลอาชีพกับสโมสรมัลโม่ในสวีเดนจนถูกสนใจดึงตัวไปเล่นในฮอลแลนด์ในปี 2001 ซึ่งนั้นก็อีกหลายทีมในหลายประเทศของยุโรป จากวันนั้นไปจนถึงปี 2016 เขากวาดแชมป์เป็นว่าเล่น โดยมีเพียงแค่สามฤดูกาลเท่านั้นที่ซลาตันไม่ได้แชมป์อะไรติดไม้ติดมือ

ซลาตันจัดการคว้าแชมป์ลีกสูงสุดในประเทศ 13 ครั้งใน 15 ฤดูกาล ด้วยการลงเล่นให้อาแยกซ์ในฮอลแลนด์, อินเตอร์ มิลานและเอซี มิลานในอิตาลี, บาร์เซโล่น่าในสเปน, ปารีส แซงต์ แชร์กแมงในฝรั่งเศส เขาพลาดการคว้าแชมป์ที่อังกฤษกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในฤดูกาล 2016/2017 แต่ก็ยังเจ๋งพอที่จะคว้าแชมป์ยูโรป้า ลีกในฤดูกาลนั้นแทน

ยอดนักเตะสวีเดนมักมีภาพรอยสักมานำเสนอ เขาเคยพูดว่าตนเองเป็นพวกเสพย์ติดการสักบนเรือนร่างอย่างแน่นอน โดยเขาเขียนมันไว้ในหนังสือ “I’m Zlatan” พร้อมเหตุผลว่านอกจากคุณค่าทางใจแล้วมันยังเป็นแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ในการเดินไปข้างหน้าของเขาด้วย แต่ใครจะรู้ความจริงว่าในตอนแรกซลาตัน อีบราฮีมอวิชแอนตี้การสักหมึกลงบนร่างกายยิ่งกว่าอะไรทั้งสิ้น แต่เมื่อเขาเริ่มต้นสักครั้งแรก มันก็มีครั้งที่สอง ครั้งที่สามและเรื่อยมาจนปัจจุบัน

21 มกราคม 2018 ซลาตันปรากฏตัวในสนามซ้อมของสโมสร พร้อมภาพสิงโตเต็มหน้าอยู่บนแผ่นหลัง เขากล่าวถึงที่มาของมันด้วยปรโยคว่า “เมื่อข้าลงสนาม ข้าคือราชสีห์” มันกลายเป็นที่ฮือฮาอย่างมากบนโลกโซเชียล แต่ก่อนที่แผ่นหลังของซลาตันจะมีรูปสิงโตอย่างงดงาม และลวดลายอื่น ๆ ช่วงต้นเขาเคยสักรูปยันต์ ซึ่งเป็นความเชื่อแบบศาสนาพุทธ ทั้งที่พ่อของเขาเป็นมุสลิมและแม่เป็นคาธอลิกแท้ ๆ ซึ่งทั้งสองยันต์ที่ว่าก็ถูกสืบค้นหาว่ามันคือยันต์อันใด และมีอานุภาพอย่างไร

ยันต์แรกอยู่บริเวณด้านหลังของไหล่ขวา อ้างอิงตามตำราพระคัมภีร์ยันต์ 108 พิสดารแล้ว มันคือยันต์พระเจ้าเข้านิโรธ ยันต์ที่มีพุทธคุณในการป้องกันภยันอันตรายและแคล้วคลาด ส่วนอีกยันต์สักไว้กลางแผ่นหลัง เรียกว่ายันต์ปัญจมุขี หรือยันต์เทวดาห้าหน้า หรือยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ซึ่งแทนธาตุทั้งห้าอันได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟและไม้ โดยยันต์นี้เด่นในเรื่องแคล้วคลาดเช่นกัน และป้องกันอริศัตรูทำร้าย แน่นอนว่าสำหรับคนไทยที่มีความเชื่อเรื่องอิทธิฤทธิ์ของยันต์ เราต่างสักมันด้วยความเชื่อและศรัทธา แต่ในเรื่องนี้ไม่มีใครยืนยันได้ว่าซลาตันเลือกที่จะสักมันตามความเชื่อ ความศรัทธาเหมือนคนไทย แต่มันก็น่าจะเป็นเช่นนั้น

ปัจจุบันซลาตันย้ายมาเล่นให้แอลเอ แกแลคซี่ สโมสรในสหรัฐอเมริกา เขาทำผลงานได้ดีพอใช้และยกตัวเองขึ้นเป็นพระเจ้าของแฟนบอลได้อย่างน่าทึ่งอีกครั้ง ขณะที่สิงโตบนแผ่นหลังก็ค่อย ๆ ถูกเก็บรายละเอียดจนครอบคลุมตั้งแต่คอลงไปจนทั่ว แต่ริ้วรอยของยันต์บนหลังได้รับการซ่อนไว้ในภาพสิงโตอย่างแนบเนียบ

บร็อก เลสเนอร์ ตัวปัญหาแห่งวงการมวยปล้ำ ผู้มีมีดค้ำคอตลอดเวลา

ในวงการมวยปล้ำ ชื่อของบร็อก เลสเนอร์ติดอยู่ในฐานะนักกีฬามวยปล้ำที่เก่งกาจที่สุดคนหนึ่งในยุค เขาได้รับฉายาว่า The Beast หรือเป็นอสูรร้ายบนสังเวียน และเคยขึ้นปะฉะดะกับนักสู้ระดับหัวแถวมามากมาย ทั้งเดอะ ร็อก, ดิ อันเดอร์เทคเกอร์, เคิร์ต แองเกิล, ทริปเปิ้ล เฮช แถมยังเอาอัดฮัลค์ โฮแกน ขวัญใจอเมริกันชนจนสลบคาเวทีมาแล้ว

เลสเนอร์คว้าสิทธิ์เป็นผู้ท้าชิงแชมป์โลกของ WWE และกลายเป็นแชมป์โลกสมัยแรกทันทีด้วยการคว่ำเดอะ ร็อกในปี 2002 สร้างสถิตินักมวยปล้ำอายุน้อยที่สุดที่ได้แชมป์โลกด้วยวัย 25 ปี ตอนนั้นเองที่ WWE ตั้งใจจะปั้นเลสเนอร์ให้เป็นสตาร์อันดับหนึ่งของวงการ พวกเขาวางแผนและวางหมากให้เลสเนอร์ก้าวขึ้นมาเป็นนักปล้ำที่เก่งที่สุดคนหนึ่ง เขียนสตอรี่ไลน์เพื่อผลักดันเขาชิงแชมป์โลกและครองแชมป์ไปหลาย ๆ สมัย แต่เลสเนอร์ไม่เดินตามเกม เขาเอาตัวเองไปหาเรื่องกับเหล่าขาใหญ่และรุ่นพี่ในวงการทั้งหลายอยู่เสมอ แถมยังหักหลังด้วยการลาออกจากสมาคมมวยปล้ำ โดยหันไปเอาดีทางศึกคนชนคนแทนจนโดยบอร์ดของ WWE สาปส่ง ที่สุดแล้วเลสเนอร์ก็พบว่าตัวเองล้มเหลวเมื่อเป็นได้แค่นักกีฬาตัวสำรองนั่งดูที่ข้างสนาม

ปี 2005 เลสเนอร์โบกมือลาวงการอเมริกันฟุตบอล และตอนนั้นก็ไม่มีพื้นที่ยืนใน WWE เหลืออยู่แล้ว เขาบินไปตามคำเชิญเพื่อลงแข่งมวยปล้ำที่ญี่ปุ่น ซึ่งที่นั่นกำลังมีการจัดตั้งวงการมวยปล้ำอาชีพ New Japan Pro Wrestling หรือ NJPW ขึ้น และต่อมาเขาก็ค้นพบเส้นทางสายใหม่ในการเป็นนักสู้ UFC ที่เขาปีนขึ้นไปถึงแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวทได้อย่างรวดเร็วในปี 2008 ก่อนเลิกแข่งหลังลงสนามได้เพียง 8 ครั้งเท่านั้น ซึ่งผู้คร่ำหวอดในวงการ UFC บอกว่ามันเป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว เพราะมวยปล้ำต่างหากคือสิ่งที่ใช่ของเลสเนอร์

ที่ญี่ปุ่นและการแข่ง UFC ที่เองที่นำมาซึ่งหนึ่งในรอยสักอันโดดเด่นของเลสเนอร์ มันคือรูปมีดดาบที่ปลายแหลมของมันจี้คอหอยของเลสเนอร์อยู่เสมอ เลสเนอร์อธิบายถึงมันไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติของตัวเองชื่อ Death Clutch:My Story of Determination, Domination and Survival ที่วางขายในปี 2011

“ผมคิดว่าชีวิตตอนนั้นเหมือนใครเอามีดมาจ่อคอหอยอยู่ตลอดเวลา ผมเลยสักมันไว้เพราะไม่ต้องการลืมช่วงเวลาดังกล่าวว่าผมรู้สึกอย่างไร รอยสักบนอกมีความหมายกับผมมาก ในมุมอื่นมันก็ตลกดีเพราะช่วงชีวิตตอนนั้นมันไม่น่าจดจำสักนิด แต่ผมรู้ว่าผมใช้มันเพื่อผลักดันตัวเองได้”

หากจะให้เข้าใจรอยสักรูปดาบนี้ดี ต้องลองนึกภาพว่าชีวิตมันยากลำบากแค่ไหน? เลสเนอร์เดินทางไปญี่ปุ่นหลังเลิกเล่นอเมริกันฟุตบอล เรื่องจะกลับไปเข้าวงการก็เป็นไปไม่ได้ แต่เรื่องตลกร้ายคือใบอนุญาตในฐานะนักกีฬาของ WWE ของเลสเนอร์ก็ใช้ไม่ได้ เมื่อ NJPW ถูกวินซ์ แม็กมาฮอน ผู้ยิ่งใหญ่ของ WWE ขวางลำห้ามให้เลสเนอร์ขึ้นแข่ง เลสเนอร์กลายเป็นอริกับวงการมวยปล้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก หมดสิทธิ์ที่จะลงแข่งในรายการอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อมกับ WWE มันทำให้เขาเจ็บปวด และแก้ปัญหาด้วยการเมาทุกคืน ก่อนจะสักรูปดาบจ่อคอหอยนี้ไว้เป็นตัวแทนความทรงจำ หลังผ่านช่วงเวลาดังกล่าวมาได้มันก็กลายเป็นความทรงจำที่ไม่อยากจำของเลสเนอร์

เลสเนอร์กลับมาสู่ WWE อีกครั้งในปี 2012 หลังวินซ์ แม็กมาฮอนยอมลดทิฐิ แค่เตรียมเปิดตัว ปรากฏว่าเลสเนอร์ไปอัดกับจอห์น ซีน่าจนเป็นเรื่องเป็นราว และนำไปสู่การสู้กันถึงสี่หนติด แต่คิดอีกมุมหนึ่งก็น่าจะเป็นการวางแผนไว้ของ WWE หลังจากที่ก่อนหน้านี้พยายามจัดฉากให้เลสเนอร์ไม่สำเร็จมาแล้ว

การเดินตามรอยที่ WWE วาดเส้นไว้ให้ ทำให้เลสเนอร์กลายเป็นหนึ่งในนักมวยปล้ำเจ้าปัญหา และถนัดระรานผู้คนไปทั่ว บุคคลิกของเลสเนอร์ถูกสร้างให้เป็นจอมทำลายตัวจริง ในการแข่งขันเขาคือนักสู้ที่พร้อมอัดคู่แข่งทุกรายที่ขวางหน้า โดยคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อที่สุดของบร็อก เลสเนอร์คือบิล โกลเบิร์ก ชายผู้คว่ำเขาในวันที่ประกาศแยกทางกับ WWE ในครั้งแรกนั่นเอง

ในแง่มุมความสวยงามของรอยสัก บรรดาศิลปินนักสักต่างลงความเห็นว่ามันเป็นรอยสักที่ดูไม่ได้เลย เช่นเดียวกับรูปหัวปีศาจที่กลางหลังและอีกสองชิ้นที่หัวไหล่ของเลสเนอร์ แต่สำหรับเลสเนอร์ มันมีความหมายในแง่ของวันเวลาแห่งชีวิต